ผู้อ่านสงสัยไหมคะว่า ข้าวพันธุ์ไหนเหมาะแก่การปลูกที่ใด จึงจะได้ผลผลิตมาก และข้าวแต่ละพันธุ์มีลักษณะเด่นแตกต่างกันอย่างไร วันนี้แอดมินจะพาผู้อ่านไปหาคำตอบกันในบทความ ปลูกข้าวพันธุ์ไหนดี 7 พันธ์ข้าว กข. ในนาสวนที่ไวต่อแสงค่ะ
1.ข้าวพันธุ์ กข5 (RD5)
เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้มาจากผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์พวงนาค 16 ของไทยกับพันธุ์ซิกาดิส ของอินโดนีเซีย จนได้สายพันธุ์ BKN6517-9-2-2 เป็นข้าวชนิด ข้าวเจ้า ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวสายพันธุ์นี้ คือ ทุกภาคที่มีการชลประทานหรือควบคุมระดับน้ำได้ค่ะ และจะได้ผลผลิตประมาณ 567 กิโลกรัม ต่อไร่
ลักษณะของข้าวพันธุ์ กข5
- เป็นข้าวเจ้าต้นสูง สูงประมาณ 145 เซนติเมตร
- เป็นพันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสงเล็กน้อย เหมาะที่จะปลูกเป็นข้าวนาปี ถ้าปลูกตามฤดูกาลจะเก็บเกี่ยวได้ปลายเดือนพฤศจิกายน แต่ถ้าปลูกในฤดูนาปรังหรือไม่ปลูกตามฤดูกาล อายุจะอยู่ระหว่าง 140-160 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเดือนที่ปลูก
- ลำต้นสีม่วง มีรวงยาว ต้นแข็งไม่ล้มง่าย
- มีระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 6 สัปดาห์
- เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางก้นจุด
- ท้องไข่น้อย
- เมล็ดข้าวเปลือก ยาว xกว้าง x หนา = 10.2 x 2.5 x 2.0 มิลลิเมตร
- เมล็ดข้าวกล้อง ยาว xกว้าง x หนา = 7.5×2.6 x 1.8 มิลลิเมตร
- ปริมาณอมิโลส 29-31%
ลักษณะเด่นของ กข5
- สามารถปลูกได้ในที่ลุ่ม น้ำลึกไม่เกิน 50 เซนติเมตร และจัดเป็นข้าวทนน้ำลึก (ไม่เกิน 1 เมตร)
- คุณภาพการสีดี
- มีอายุหนักกว่าพันธุ์ กข1 จะสุกแก่พร้อมๆ กับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของชาวนา ทำให้ลดความเสียหายจากนกหนู
- ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ และโรคใบสีส้มปานกลาง
- เมล็ดไม่ร่วงง่ายเมื่อเก็บเกี่ยว
ข้อควรระวังในการปลูกข้าวพันธุ์ กข5
- ไม่เหมาะที่จะปลูกในฤดูนาปรัง เพราะผลผลิตค่อนข้างต่ำ อาจมีอายุถึง 160 วัน จะมีปัญหาในการเก็บเกี่ยวและตาก
- นวดยาก ระแง้ค่อนข้างเหนียว
- ไม่ต้านทานโรคใบหงิก โรคคอรวงเน่า และโรคใบจุดสีน้ำตาล
- ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และหนอนกอ
2.ข้าวพันธ์ุ กข6 (RD6)
เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้จากการกลายพันธุ์ของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ด้วยรังสีแกมมา แล้วนำมาปลูกคัดเลือก จนได้สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ สายพันธุ์ KDML105´65-G2U-68-254 ซึ่งเป็นข้าวชนิดข้าวเหนียว เหมาะที่จะปลูกในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และให้ผลผลิตประมาณ 666 กิโลกรัมต่อไร่
ลักษณะของข้าวพันธุ์ กข6
- เป็นข้าวเหนียว สูงประมาณ 154 เซนติเมตร
- ไวต่อช่วงแสง
- ทรงกอกระจายเล็กน้อย ใบยาวสีเขียวเข้ม ใบธงตั้ง เมล็ดยาวเรียว
- เมล็ดข้าวเปลือกสีน้ำตาล
- อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 21 พฤศจิกายน
- ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 5 สัปดาห์
- เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง x หนา = 9.9 x 2.7 x 2.0 มิลลิเมตร
- เมล็ดข้าวกล้อง ยาว x กว้าง x หนา = 7.2 x 2.2 x 1.7 มิลลิเมตร
- คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม
ลักษณะเด่นของ กข6
- ให้ผลผลิตสูงและทนแล้งดีกว่าพันธุ์เหนียวสันป่าตอง
- คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม
- ลำต้นแข็งปานกลาง
- ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล
- คุณภาพการสีดี
ข้อควรระวังในการปลูกข้าวพันธุ์ กข6
- ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และโรคไหม้
- ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและแมลงบั่ว
3.ข้าวพันธุ์ กข8 (RD8)
เป็นข้าวที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์เหนียวสันป่าตอง กับพันธุ์ไออาร์ 262 จนได้สายพันธุ์ KKN6721-5-7-4 ซึ่งเป็นข้าวเหนียว เหมาะกับการปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะได้ผลผลิต 585 กิโลกรัมต่อไร่
ลักษณะของข้าวพันธุ์ กข8
- เป็นข้าวเหนียว สูงประมาณ 150 เซนติเมตร
- ไวต่อช่วงแสง
- อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 23 พฤศจิกายน
- ลำต้นและใบสีเขียวเข้ม ใบธงตั้ง ฟางแข็ง ชูรวงอยู่เหนือใบ เมล็ดข้าวค่อนข้างป้อม ลำต้นแข็ง
- สีเมล็ดข้าวเปลือก แถบสีน้ำตาลบนพื้นสีฟาง
- ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 3 สัปดาห์
- เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง x หนา = 10.3 x 2.9 x 2.2 มิลลิเมตร
- เมล็ดข้าวกล้อง ยาว x กว้าง x หนา = 7.1 x 2.5 x 1.9 มิลลิเมตร
- คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม
ลักษณะเด่นของ กข8
- ลำต้นแข็ง ไม่ล้มง่าย เหมาะสำหรับปลูกในสภาพที่ลุ่ม
- ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล
ข้อควรระวังในการปลูกข้าวพันธุ์ กข8
- ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและแมลงบั่ว
- ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง
4.ข้าวพันธุ์ กข12 (หนองคาย 80)
เกิดจากการผสมพันธุ์กันระหว่าง หางยี 71 และ กข6 จนเกิดเป็นสายพันธุ์ UBN92110-NKI-B-B-B-30-KKN-1 ซึ่งเป็นข้าวเหนียว เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ฝนหมดเร็ว หรือนาค่อนข้างดอน และในระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นพืชหลัก และให้ผลผลิต 422-522 กิโลกรัม ต่อไร่
ลักษณะของข้าวพันธุ์ กข12
- เป็นข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง
- อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 10-15 พฤศจิกายน
- ทรงกอตั้ง ต้นแข็งไม่ล้มง่าย ใบสีเขียวเข้ม รวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว ให้จำนวนรวงเฉลี่ย 10 รวงต่อกอ
- เมล็ดข้าวเปลือกสีน้ำตาลเข้ม ขนสั้น
- ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 7 สัปดาห์
- เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง x หนา = 10.3 x 2.6 x 1.9 มิลลิเมตร
- เมล็ดข้าวกล้อง ยาว x กว้าง x หนา = 7.2 x 2.2 x 1.8 มิลลิเมตร
ลักษณะเด่นของ กข12
- เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีอายุเบากว่าพันธุ์ กข6 ประมาณ 10 วัน ปลูกในพื้นที่นาค่อนข้างดอน ซึ่งไม่เหมาะสมกับพันธุ์ กข6
- ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ในหลายท้องที่
- มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี เป็นที่ยอมรับของเกษตรกร
ข้อควรระวังในการปลูกข้าวพันธุ์ กข12
- อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
5. ข้าวพันธุ์ กข13 ( RD13 )
ได้จากการผสมของข้าวพันธุ์นางพญา 132 และผักเสี้ยน 39 จนได้สายพันธุ์ BKN6402-352 ซึ่งเป็นข้าวเจ้า เหมาะแก่การปลูกในภาคใต้ และให้ผลผลิต 450 กิโลกรัม ต่อไร่
ลักษณะของข้าวพันธุ์ กข13
- เป็นข้าวเจ้า สูงประมาณ 160 เซนติเมตร
- ไวต่อช่วงแสง
- ลำต้นตั้งตรง สีเขียว ใบธงตก ชูรวงอยู่เหนือใบ ระแง้ถี่
- อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 26 กุมภาพันธ์
- เมล็ดข้าวเปลือกสีน้ำตาล
- ท้องไข่ปานกลาง
- ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 3 สัปดาห์
- เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง x หนา = 9.3 x 2.5 x 1.8 มิลลิเมตร
- เมล็ดข้าวกล้อง กว้าง x ยาว x หนา =6.9 x 2.2 x 1.7 มิลลิเมตร
- ปริมาณอมิโลส 30-33 %
- คุณภาพข้าวสุก ร่วนค่อนข้างแข็ง
ลักษณะเด่นของ กข13
- ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์นางพญา 132 ประมาณ 17 %
- ลักษณะรวงยาว และใหญ่ มีเมล็ดต่อรวงมาก สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวด้วยแกระ
- นวดง่ายกว่าพันธุ์นางพญา 132
- ระบบรากดี มีความสามารถทนแล้งพอสมควร
- มีความต้านทานต่อสภาพน้ำลึก
- ต้านทานโรคไหม้
ข้อควรระวังในการปลูกข้าวพันธุ์ กข13
- ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง
6.ข้าวพันธุ์ กข15 (RD15)
ได้จากการใช้รังสีชักนำอาบเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จนได้สายพันธุ์ KDML 105´65G1U-45 ซึ่งเป็นข้าวเจ้า เหมาะกับการปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ผลผลิต 560 กิโลกรัมต่อไร่
ลักษณะของข้าวพันธุ์ กข15
- เป็นข้าวเจ้า สูงประมาณ 140 เซนติเมตร
- ไวต่อช่วงแสง
- อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 10 พฤศจิกายน
- ลำต้นและใบสีเขียวอ่อน ใบธงทำมุมกับคอรวง รวงอยู่เหนือใบ ใบยาว ค่อนข้างแคบ
- เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ปลายบิดงอเล็กน้อย
- ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 7 สัปดาห์
- เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง x หนา = 10.7 x 2.5 x 1.9 มิลลิเมตร
- เมล็ดข้าวกล้อง ยาว x กว้าง x หนา =7.5 x 2.1 x 1.7 มิลลิเมตร
- ปริมาณอมิโลส 14-17 %
- คุณภาพข้าวสุก นุ่ม มีกลิ่นหอม
ลักษณะเด่นของ กข15
- ทนแล้งได้ดีพอสมควร
- อายุเบา เก็บเกี่ยวได้เร็ว
- คุณภาพการหุงต้ม นุ่ม มีกลิ่นหอม
- คุณภาพการสีดี เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง เรียวยาว
- นวดง่าย
- ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล
ข้อควรระวังในการปลูกข้าวพันธุ์ กข15
- ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคไหม้
- ไม่ต้านทานแมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและหนอนกอ
- ล้มง่าย ฟางอ่อน เมล็ดร่วงง่าย
7.ข้าวพันธุ์ กข16 (RD16)
ได้จากการผสมพันธุ์ฤดูนาปี พ.ศ. 2539 ระหว่าง พันธุ์ กข6 ข้าวคุณภาพดี เป็นพันธุ์แม่ และพันธุ์ หางยี 71 ข้าวต้านทานต่อโรคไหม้ และอายุสั้น เป็นพันธุ์พ่อ ซึ่งเป็นข้าวเจ้า เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนภาคเหนือตอนบน บริเวณที่ฝนหมดเร็ว และในพื้นที่ที่เกษตรกรต้องการปลูกพืชหลังฤดูทำนา และได้ผลผลิต 633 กิโลกรัมต่อไร่
ลักษณะของข้าวพันธุ์ กข16
- เป็นข้าวเหนียวต้นสูง สูงประมาณ 133-149 เซนติเมตร
- ไวต่อช่วงแสง
- ลำต้นแข็งปานกลาง ใบสีเขียว ใบธงตั้ง รวงยาว
- เมล็ดข้าวเปลือก ยาว xกว้าง x หนา = 10.1 x 2.9 x 2.0 มิลลิเมตร
- เมล็ดข้าวกล้อง ยาว xกว้าง x หนา = 7.0 x 2.3 x 1.7 มิลลิเมตร
- ปริมาณอมิโลส 43.9 %
- อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ เมื่อนึ่งสุกมีกลิ่นหอม เนื้อสัมผัสค่อนข้างนุ่ม
- คุณภาพการสีดี สีได้ข้าวเต็มเมล็ด
ลักษณะเด่นของ กข16
- ไวต่อช่วงแสง
- ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง
- ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ ในภาคเหนือตอนบน
- เป็นข้าว อายุสั้นกว่าพันธุ์ กข6 ประมาณ 1 สัปดาห์ ช่วยกระจายแรงงานในระยะเก็บเกี่ยว และความสูงน้อยกว่าพันธุ์ กข6 ประมาณ 10 เซนติเมตร ลดปัญหาข้าวหักล้มระยะเก็บเกี่ยว
- เป็นข้าวเหนียวเมล็ดปานกลาง คุณภาพการสีดี คุณภาพหุงต้มรับประทานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และมีกลิ่นหอม
ข้อควรระวังในการปลูกข้าวพันธุ์ กข16
- ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง แมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ แอดมินหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านตัดสินใจได้ว่าจะปลูกข้าวพันธุ์อะไรกันนะคะ และหากถึงฤดูเก็บเกี่ยวและต้องการใช้รถเกี่ยวข้าว รถเกี่ยวข้าวราคา.com ยินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลือกซื้อรถเกี่ยวข้าว อะไหล่รถเกี่ยวข้าว และวิธีการบำรุงดูแลรักษารถเกี่ยวข้าวค่ะ สนใจสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถเกี่ยวข้าวได้ที่ 062-424-1394
…………………………..
ขอบคุณข้อมูลจาก